CMS ที่ผมต้องการ (ตอนที่ 1) : CMS คืออะไรวันจันทร์ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 06:12:51 |
ผมเคยสัญญากับคุณ Bomber ไว้นานแล้วว่า จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ระบบ CMS (Content Management System) ในมุมมองของผม ช่วงนี้ผมก็เริ่มมีเวลาบ้างแล้ว ก็เลยร่างๆเรื่องขึ้นมา เรื่องราวทั้งหมดจะมีกี่ตอนจบผมก็ยังไม่แน่ใจนะครับ เพราะว่าผมอยากจะค่อยๆคิดค่อยๆเขียนออกมาให้ละเอียดๆทุกแง่ทุกมุม เพราะเคยเขียนแบบรวบรัดแล้ว รู้สึกว่า มันอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร คิดว่าคงเสียเวลาเปล่าถ้าจะเขียนอะไรแล้วไม่มีใครรู้เรื่อง หรือไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ผมก็เลยตั้งใจอยากจะให้คนที่สนใจอ่านบทความนี้ ได้อะไรกลับไปบ้างไม่มากก็น้อย ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่อง CMS เลยก็ตาม ผมขอเริ่มเรื่องจากคำนิยามของคำว่า CMS ก่อนเลยนะครับ ---------- 1. CMS คืออะไรCMS ย่อมาจากคำว่า Content Management System แปลความหมายง่ายๆก็คือ เป็นระบบจัดการ content นั่นเอง ส่วนความสามารถของระบบจะมีอะไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างว่า ต้องการจัดการอะไร อย่างไร 1.1 ระบบ CMS ที่มีอยู่ระบบ CMS เท่าที่เห็นๆกันอยู่ในปัจจุบันนี้ พัฒนามาจากการทำ dynamic web page ซึ่งหลักๆก็คือการทำเว็บบอร์ด หรือ เว็บข่าวสารต่างๆ โดยจะมีเครื่องมือช่วยจัดการข้อเขียนต่างๆให้เป็นหมวดหมู่ มีระบบค้นหาและอ้างถึง มีการแทรกภาพและข้อมูลอื่นๆได้ นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการเพิ่มเติมเมื่อการใช้งานระบบ ขยายขอบเขตออกไปเป็นวงกว้าง คือ มีระบบสมาชิก มีการจำกัดสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละระดับ และผมคิดว่าระบบ CMS จะยังมีพัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ แต่หลักใหญ่ของระบบ CMS ทั่วไปที่ผมพบคือ การเน้นที่ข้อเขียน คือเพื่อให้เป็น ข่าว, บทความ, เรื่องสั้น, ไดอารี่, อภิธานศัพท์, ฯลฯ โดยมีลักษณะเด่นคือ มีชื่อข้อเขียนและเนื้อหา ซึ่งมักจะเขียนด้วย tag พิเศษต่างๆเพื่อผสมผสาน ภาพ หรือข้อมูลหลากหลายชนิดเข้าด้วยกัน เพื่อแสดงออกทางเว็บบราวเซอร์เป็นหลัก 1.2 นิยามระบบ CMS ของผมแต่ผมให้นิยามคำว่า CMS กว้างกว่านั้น โดยมองว่า content ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงข้อเขียนอย่างเดียว คือ เราควรมองกว้างๆว่ามันเป็นข้อมูลใดๆ เช่น ที่อยู่, รายชื่อหนังสือ-หนัง-เพลง, สถิติจำนวนลูกค้า, ราคาสินค้า, ผลการทดลอง, ฯลฯ ซึ่งข้อมูลแต่ละแบบมีโครงสร้างที่ไม่ใช่เพียงแค่ ชื่อข้อเขียน+เนื้อหา เท่านั้น แต่มันซับซ้อนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อมูลแต่ละชนิด ระบบ CMS ในมุมมองของผม จึงเป็นระบบที่ควรจะสามารถจัดการกับข้อมูลหลากหลายรูปแบบได้สะดวก และสามารถดึงเอาความสามารถตรงนี้มาช่วยให้เราสามารถสร้าง, ถ่ายทอด หรือประมวลผล สิ่งที่ต้องการออกมาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เราไม่ควรปิดกั้นว่า ระบบจะต้องยึดติดกับการทำงานแบบรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลาง เช่น การให้บริการที่เว็บเซอร์เวอร์ เป็นต้น ระบบควรจะสามารถใช้งานในขอบเขตที่เล็กที่สุด เช่น เป็นระบบจัดการข้อมูลส่วนตัว ใช้งานเพียงคนเดียว (Personal CMS) และน่าจะสามารถขยายระบบให้ใหญ่ขึ้นไปได้ง่ายที่สุด โดยไม่ยึดติดกับ platform ใดๆ หรือเครือข่ายแบบใด โดยสามารถแบ่งปันข้อมูลเพื่อใช้งานร่วมกันได้ (Distributed CMS) เพราะข้อมูลแต่ละชิ้น มีความเฉพาะตัว และมีคุณค่า เมื่อนำมารวมกัน ก็ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ, ความหลากหลาย และคุณค่าก็เพิ่มขึ้น ---------- สำหรับตอนที่ 1 นี้ ผมขอจบไว้สั้นๆเพียงเท่านี้นะครับ ใครมีคำนิยามของคำว่า CMS ที่แตกต่างออกไป ก็ลองมาเสนอมุมมองกันหน่อย ตอนต่อไปผมจะเขียนเกี่ยวกับ requirement ครับ คือจะเน้นที่ความต้องการส่วนตัวของผมก่อนว่า ต้องการระบบ CMS ที่มีความสามารถอะไรบ้าง โปรดคอยติดตามนะครับ ---------- |
since September
2002 Copyright © 2002-2004 Somchai LIMSIRORATANA. All rights reserved. |