ฮาร์ดดิสค์โดย สมชัย หลิมศิโรรัตน์ 16 มีนาคม 2546 |
||||||||||||||||||||||
โอ้โฮ! อื้อฮือ! ว้าว! อ๊ะๆ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด นั่นเป็นคำอุทานที่หลายๆคนมักจะใช้เวลาอ่านข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมเองก็เป็นครับ เพราะความชอบอะไรที่มันไฮเทคฯ แต่ไม่มีเงินจะซื้อ ก็ได้แต่อ่านข่าวแล้วก็ร้องครางด้วยความอยากได้ แต่ก็ต้องอดใจไว้ เพราะไม่อย่างนั้นกระเป๋าฉีกแน่นอน ผมเป็นแบบนี้อยู่คนเดียวไม่พอ ผมจะมาทำให้คุณต้องน้ำลายสอ เกิดอาการอยากได้เหมือนผมบ้าง อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่จะต้องมีประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ก็คือ "ฮาร์ดดิสค์" หลายคนไม่ค่อยจะสนใจมันเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยมีเทคโนโลยีอะไรหวือหวาให้น่าตื่นเต้นมากนัก แต่ที่ผมสนใจมันก็เพราะว่า แนวโน้มของฮาร์ดดิสค์ตอนนี้ กำลังเปลี่ยนไป เพราะว่าเทคโนโลยีด้านอื่นมันก้าวหน้ามากขึ้น พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลของประชากรโลก ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเนื่องจาก อินเตอร์เน็ต แต่สำหรับประเทศไทย หลายคนอาจจะยังไม่รู้สึกตัว เพราะว่าอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยเรามันยังช้ามากๆ และแพงมากๆ ในขณะที่ประเทศอื่นๆเขาเปลี่ยนไปใช้ Boardband (อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง) กันหมดแล้ว แต่ประเทศไทยยังต้วมเตี่ยมอยู่เลย ถ้าจะเทียบกันให้เห็นชัดๆก็ต้องเอาตัวเลขมาเทียบกัน คือ ประเทศไทย แต่ละบ้านใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโมเดม ซึ่งมีความเร็วอยู่ที่ 56 Kbps (กิโลบิตต่อวินาที, b ตัวเล็กจะใช้แทนคำว่า bit, B ตัวใหญ่จะใช้แทนคำว่า byte) ในขณะที่ต่างประเทศใช้ ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line) ซึ่งมีความเร็วสูงกว่ามาก เช่น ประเทศเกาหลี, ฮ่องกงใช้ 10Mbps, ญี่ปุ่น 12Mbps ในขณะที่ราคาก็ถูกมากๆคือ ประมาณ 1500-2000บาทต่อเดือนไม่จำกัดเวลา เมื่อแต่ละคนรับข้อมูลได้มากขึ้น ก็ต้องมีการเก็บไว้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นภาพและเสียง ฮาร์ดดิสค์จึงกลายเป็นสิ่งที่จะต้องสนใจว่าจะซื้อขนาดเท่าไหร่ดี ปกติ ประมาณ 10GB ก็เพียงพอสำหรับติดตั้ง OS และโปรแกรมใช้งานทั่วไปต่างๆ ถ้าข้อมูลของเราไม่มาก 20-30GB ก็เพียงพอ แต่ถ้าเราทำงานที่เกี่ยวกับภาพและเสียงก็อาจจะจำเป็นต้องใช้มากกว่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการตัดต่อวีดีโอ ซึ่งเครื่องระดับ Pentium 4 นั้นสามารถใช้ทำงานหนักๆอย่างนี้ได้สบาย เนื้อที่ก็คงต้องใช้มากขึ้นตามความยาวของวีดีโอที่เราทำงานอยู่ ผมคงไม่พูดว่าควรจะใช้เท่าไหร่นะครับ เพราะมันแล้วแต่งานของแต่ละคน แต่ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ เป็นการมองตลาดในประเทศญี่ปุ่นนะครับ ว่าตอนนี้เขามีแนวโน้มไปทางไหนหรือไปถึงไหนกันแล้ว ใครที่กำลังคิดจะซื้อฮาร์ดดิสค์ใหม่จะได้วางแผนเก็บเงินไว้ ตลาดในประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ ฮาร์ดดิสค์ปกติที่ใส่อยู่ในเครื่องเดสค์ท็อบนั้นจะเป็นแบบขนาด 5.75 นิ้ว ซึ่งความจุปัจจุบันที่ผมเห็นขายอยู่มีความจุ 80GB ราคาประมาณ 3,500-4,000บาท แต่ไม่นานมานี้ผมเห็นมีรุ่น 160GB, 200GB และ 250GB ออกมาขายแล้ว ส่วนฮาร์ดดิสค์สำหรับเครื่องโน๊ตบุ๊คนั้น ถ้าเป็นแบบรุ่นใหญ่ก็จะใช้แบบขนาด 2.5นิ้ว ซึ่งมีความจุอยู่ที่ประมาณ 20GB ราคาประมาณ 3,300-4,000บาท แต่ล่าสุดนี่เห็นรุ่น 30GB, 40GB และ 60GB ออกมาวางขายกันแล้ว
แนวโน้มตลาดโน๊ตบุ๊คเมืองไทยก็สดใสขึ้นมาก เพราะเดี๋ยวนี้มีเครื่องโน๊ตบุ๊ครุ่นเล็ก ที่เราเรียกว่า "โมบาย" หรือพูดง่ายๆว่าเป็นเครื่องขนาดเท่ากับ หรือเล็กกว่า กระดาษขนาด B5 ออกมาวางขายกันมากขึ้น ในตลาดญี่ปุ่นนั้น เครื่องประเภทโน๊ตบุ๊คและโมบายนั้นเป็นเครื่องปกติที่คนทั่วไปมักเลือกซื้อกัน ฮาร์ดดิสค์ สำหรับเครื่องพวกนี้ถ้าใครต้องการเพิ่มเข้าไปจะทำไม่ได้เลย เพราะไม่มีเนื้อที่สำหรับเพิ่ม คนญี่ปุ่นจึงนิยมใช้ฮาร์ดดิสค์แบบต่อข้างนอก (External Harddisk) แทน ซึ่งสมัยก่อนนั้นจะเป็นแบบที่ต่อทาง SCSI (Small Computer Systems Interface) เพราะเป็นมาตรฐานที่มีความเร็วในการส่งข้อมูลสูง แต่ปัจจุบันนี้ มีมาตรฐาน USB (Universal Serial Bus) ออกมา ซึ่งมีความเร็วพอๆกัน แต่ USB จะมีหัวต่อที่เล็กกว่า และเป็นมาตรฐานที่ติดมากับเครื่องทั่วไป ฮาร์ดดิสต์แบบต่อข้างนอกรุ่นใหม่ๆ จึงกำลังเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานนี้กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนี้ USB 2.0 ก็กลายเป็นมาตรฐานที่มีมากับเครื่องรุ่นใหม่ทุกเครื่องแล้ว โดยมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดที่ 480 Mbps ฮาร์ดดิสต์ยี่ห้อ Logitec แบบใช้ภายนอก รุ่นความจุ 160GB ต่อกับพอร์ต USB 2.0
ฮาร์ดดิสต์แบบข้างบนนี้ ภายในจริงๆแล้วจะมีฮาร์ดดิสต์ขนาด 5.75 นิ้วอยู่ และมีวงจรแปลงการติดต่อแบบ Ultra-ATA มาเป็นแบบ USB 2.0 ซึ่งทำให้มันมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม แต่ที่ได้รับความนิยมมากก็เพราะว่า ราคาไม่ได้ต่างจากซื้อฮาร์ดดิสต์เปล่าๆแบบที่ใช้ต่อภายในเครื่องเดสค์ท็อบเลย จึงสะดวกซื้อและสะดวกใช้จริงๆ อย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนบ่อยๆ ฮาร์ดดิสต์แบบนี้ก็ยังนับว่าเหมาะสมมาก อ้าว! แล้วคนที่ต้องไปโน่นมานี่บ่อยๆล่ะ จะทำยังไง? ไม่ต้องกังวลครับ ยังมีอีกแบบที่เอาฮาร์ดดิสต์ขนาด 2.5 นิ้ว ที่ใช้ต่อภายในเครื่องโน๊ตบุ๊คมาทำ ดังภาพข้างล่างนี้ ฮาร์ดดิสต์ยี่ห้อ Logitec แบบใช้ภายนอก ใช้ฮาร์ดดิสต์ 2.5 นิ้ว รุ่นความจุ 60GB แบบต่อกับพอร์ต USB 2.0
นอกจากนี้แล้ว ฮาร์ดดิสต์แบบนี้ยังใช้ไฟน้อยมาก คือสามารถใช้ไฟจาก USB พอร์ตได้ หรือที่เขาเรียกว่า บัสพาวเวอร์ (Bus power) คือไม่ต้องมีอแดปเตอร์นั่นเอง ส่วนราคานั้น ก็พอๆกับซื้อฮาร์ดดิสต์เปล่าๆเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีบางร้านขายเฉพาะกล่องในราคาประมาณ 800-1,000บาท เห็นไม๊ล่ะครับ มันน่าซื้อไหมล่ะ ยังครับยัง ผมยังมีอีกแบบหนึ่งที่เห็นแล้วต้องตาโตแน่ๆเลย คือ ปกติเครื่องโน๊ตบุ๊คนี่จะมีช่องสำหรับเสียบ PCMCIA (Personal Computer Memory Card International Association) การ์ด เพื่อต่อกับอุปกรณ์แบบอื่นๆนะครับ ทีนี้ก็มีฮาร์ดดิสต์ที่ต่อกับ PCMCIA นี่แหละครับ ทำออกมาขายแล้ว ที่ผมเห็นเป็นรุ่น 2GB ราคาประมาณ 8,000-10,000บาท แต่ล่าสุดที่ออกมาตอนนี้เป็นรุ่นความจุ 5GB ครับดังภาพ
เห็นตัวเลข 5GB แล้วเราอาจจะรู้สึกว่าน้อย เมื่อเทียบกับ 160 หรือ 250GB ของฮาร์ดดิสต์ของเครื่องเดสต์ท็อบ แต่อย่าลืมนะครับว่า แผ่น DVD หนึ่งแผ่นนี่มีความจุ 4.7GB นะครับ หมายความว่ามันใส่หนังความละเอียดสูงได้ทั้งเรื่องเลยไงล่ะครับ เป็นไงครับ แนวโน้มตลาดฮาร์ดดิสต์ที่ผมเล่าให้ฟัง ตอนนี้ที่เมืองไทยยังอาจจะไม่มี หรือมีก็ยังแพงอยู่มาก แต่อีกไม่เกิน 2ปี ผมคิดว่าของพวกนี้ก็จะมีเป็นของธรรมดาไปเลย วันนี้ผมขอจบเรื่อง ฮาร์ดดิสต์ไว้เท่านี้นะครับ ไว้คราวหน้าจะหาเรื่องไฮเทคฯๆมาเล่าให้ฟังอีก ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ แหล่งอ้างอิงภาพทั้งหมดนำมาจากโฮมเพจของบริษัท Logitec (http://www.logitec.co.jp) เพิ่มเติม1/09/2546 ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ เรื่อง Hitachi คลอดไดร์ฟจิ๋ว ความจุสูง 4GB |
||||||||||||||||||||||
since September
2002 Copyright © 2002-2003 Somchai LIMSIRORATANA. All rights reserved. |