Computer กับการเกษตรญี่ปุ่น

-- การทำนาทำไร่อย่างแม่นยำ (Precision Farming) --

สมชัย หลิมศิโรรัตน์

1 มิถุนายน 2545
เพิ่มหัวข้อ "ข่าวเพิ่มเติม" 6 พฤศจิกายน 2545

ประเทศไทยเราจะเรียกว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าในสมัยยุคฟองสบู่กำลังพองโต เราเคยคิดกันว่าจะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจังเพื่อจะเป็นนิค (NIC, Newly Industrialized Country) กับเขาบ้าง แต่ก็มีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้เป็นแน็ค (NAC, Newly Agriculturalized Country) เพราะพื้นฐานของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติในดิน มีอย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะพัฒนาไปเป็นอะไรก็แล้วแต่ มาถึงวันนี้เราก็คงรู้ผลลัพธ์ที่เกิดจากการพัฒนาอย่างไม่ระวังกันแล้ว เมื่อฟองสบู่แตก มันกระทบต่อๆกันไปทุกด้าน เพราะทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด ดังนั้น ก่อนที่เราจะพัฒนาอะไร ไปทางไหน เราควรศึกษาเรื่องนั้นๆให้กระจ่างแจ้งเสียก่อน

การดูประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นตัวอย่าง ก็เป็นข้อดี แต่เราจะต้องเข้าใจเหตุและผลที่เขาใช้วิธีการนั้นๆให้ถ่องแท้ เพราะว่าพื้นฐานอะไรหลายๆอย่างของเขากับของเราไม่เหมือนกัน เช่น ภูมิอากาศ, วัฒนธรรม และการศึกษา ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หุ่นยนต์ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาพัฒนาเครื่องยนต์มานานแล้ว และปรับปรุงมาเรื่อยๆ จนเป็นเครื่องยนต์อัตโนมัติ และในที่สุดก็เข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์ ถึงแม้ว่าขณะนี้เป็นเพียงก้าวที่สองเท่านั้น ที่ผมเรียกว่าก้าวที่สองก็เพราะว่าก้าวแรกก็คือหุ่นยนต์ที่ทำงานเหมือนเครื่องยนต์อัตโนมัติมากกว่า เพียงแต่มีความสามารถมากกว่าเครื่องยนต์อัตโนมัติธรรมดาตรงที่สามารถตั้งโปรแกรม ปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามเงื่อนไขที่วางไว้ แต่ตอนนี้ได้มีการเพิ่มความฉลาดเข้าไปให้มันสามารถเรียนรู้อะไรๆได้เองมากกว่าเมื่อก่อน มีความเหมือนมนุษย์มากกว่าเดิม หัวใจสำคัญของมันก็คือ คอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ เป็นศาสตร์หนึ่งที่สำคัญและเป็นเครื่องมืออันหนึ่งซึ่งสามารถทำให้สาขาอื่นๆพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธภาพได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาหนึ่งที่มักพบก็คือ ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น มักจะไม่มีความรู้ในสาขาอื่นที่จะต้องพัฒนาระบบหรือสร้างโปรแกรมให้ จึงมักเป็นอุปสรรค์ในการพัฒนา หากให้ผู้ที่มีความรู้ในด้านนั้นๆพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เอง ก็จะได้ระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจก่อให้เกิดปัญหาในการขยายระบบในภายหลัง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการเกษตร ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หากเราดูตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น น่าจะช่วยให้เราเตรียมพร้อมอะไรๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ในยุคของเครื่องยนต์ ก็ได้มีการสร้างเครื่องยนต์สำหรับไถนาขึ้นมา ในเมื่อเราไม่มีความรู้ ไม่สามารถจะสร้างได้อย่างเขา สุดท้ายเกษตรกรของเราก็ต้องเลิกเลี้ยงวัว เอาเงินไปซื้อเครื่องของเขามาใช้ เพราะมันอำนวยความสะดวก และทำงานได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทั้งๆที่เครื่องนั้นออกแบบไว้สำหรับประเทศเขาซึ่งเทียบกันแล้ว เรานำมาใช้ได้ไม่เต็ม 100% อย่างที่เขาออกแบบไว้ และแน่นอนผลผลิตย่อมสู้เขาไม่ได้อยู่ดี เราได้เปรียบเขาเพียงแค่ ฤดูกาลของเราทำให้ปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้งในขณะที่เขาปลูกได้แค่ครั้งเดียว

การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยงานด้านการเกษตรจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเกษตรของเราพัฒนาต่อไปได้เป็นอย่างดี ถ้าจะถามว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเขานำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเกษตรอย่างไร ผมคงจะไม่สามารถแจกแจงได้หมด จึงขอแบ่งออกเป็นตอนๆ โดยเริ่มจากตอนแรกนี้ คือ การทำนาทำไร่อย่างแม่นยำ (Precision Farming) ที่ต้องเริ่มด้วยเรื่องนี้ก็เพราะเป็นเรื่องของเป้าหมายโดยรวม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะเริ่มทำที่เรื่องนี้ก่อนนะครับ ทุกอย่างพัฒนาไปพร้อมๆกันและปรับเขาหากัน

ฐานข้อมูลพื้นที่

การทำนาทำไร่อย่างแม่นยำนั้น เขาอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ เก็บข้อมูลทุกอย่างของแต่ละพื้นที่ไว้ทั้งหมด ทุกแปลง และไม่ว่าจะมีการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย หรือปลูกอะไรลงไป ปริมาณเท่าใหร่ ก็จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลกลาง เพื่อจะรู้ว่าแร่ธาตุในดินตรงนั้นเวลานี้มีอะไรอยู่บ้าง เหมาะที่จะปลูกอะไร หรือ ถ้าจะปลูกข้าว ควรจะใส่อะไรเพิ่มเข้าไป เกษตรกรของเขาก็จะสามารถคิดคำนวนต้นทุน เวลาต่างๆได้อย่างแม่นยำ

ในส่วนของประเทศไทย ผมได้รู้มาจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องดินเป็นพิเศษท่านหนึ่งบอกว่า เราก็พยายามจะทำอยู่ แต่เกษตรกรของเรา ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ก็ด้วยเพราะเหตุผลของความอยู่รอด ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การเผาต้นข้าวแห้ง เป็นการสูญเสียแร่ธาตุต่างๆที่ข้าวดูดขึ้นมาจากดินกลายเป็นแก็สระเหยไปอย่างรวดเร็ว แทนที่จะใช้วิธีไถกลบ ให้เน่าเปื่อย แร่ธาตุก็จะกลับคืนสู่ดินได้ แต่ต้องลงทุน ลงแรง ซึ่งชาวนาเราไม่สามารถลงทุนตรงนั้นได้ (หรือได้ก็ไม่อยากทำ)

รถไถ รถปลูกและเก็บเกี่ยว

การใช้รถไถ รถเก็บเกี่ยว หรือเครื่องจักรช่วยงานอื่นๆ ก็มีให้เห็นแล้วในบ้านเรา แต่ราคานั้นยังสูงอยู่มาก จึงมักจะใช้วิธีเช่าจากนักลงทุนอีกทีหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว หากเรามีเทคโนโลยีของเรา สามารถสร้างเครื่องจักรพวกนี้ออกมาได้เอง ในหลายขนาด ก็จะทำให้มีหลายราคา ใครต้องการใช้เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็สามารถซื้อคันเล็กๆไปใช้ได้ในราคาที่เหมาะสม ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้นเขามีรถไถ รถปลูกและเก็บเกี่ยวข้าว ทั้งเล็กและใหญ่ แล้วแต่ความเหมาะสม ขนาดเล็กนั้นเล็กกว่ารถเก๋งธรรมดาเสียอีก เวลาจะเอาไปใช้ในนา ก็สามารถบรรทุกรถกระบะไปได้สบาย

ครับ นั่นคือปัจจุบัน ส่วนในอนาคตที่เขาสร้างเป็นต้นแบบออกมาแล้วก็คือ ที่รถแต่ละคันนั้นจะติดเครื่องมือสื่อสารไร้สายและบอกตำแหน่ง(GPS, Global Positioning System) ไว้ และมันจะสามารถตั้งโปรแกรมให้ทำตามรถคันอื่นๆได้ เช่น เจ้าของขับรถคันแรกไป รถคันอื่นๆ ก็จะวิ่งตามอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนขับ หากรถคันแรกเลี้ยว ลงนาแปลงแรก คันอื่นๆก็จะเลี้ยวตามโดยกำหนดให้ลงแปลงถัดๆไปได้ เมื่อเจ้าของขับไถไปในนาแปลงแรก แปลงถัดๆไปก็จะถูกไถไปพร้อมๆกันเหมือนกับแปลงแรกอย่างอัตโนมัติ และในขณะที่ไถดินนั้น ที่คันไถก็จะมี sensor ตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุในดินไปด้วย แล้วส่งข้อมูลกลับไปเก็บไว้ยังศูนย์กลาง

ระบบควบคุมคุณภาพ

ผักผลไม้หลายชนิด เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะต้องมาผ่านกระบวนการคัดแบ่งเกรดและบรรจุ โดยปกติแล้วเราจะคัดแบ่งเพียงแค่ขนาดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ซื้อต้องการรู้ และมั่นใจว่าผลไม้ที่เขาซื้อนั้น หวาน หรือเปรี้ยวมากน้อยแค่ใหน สมกับราคาหรือเปล่า แต่จะคัดแบ่งในเรื่องรสชาดนั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือกระบวนการพิเศษ เพราะเราไม่สามารถผ่าแบ่งออกมาได้ทุกลูก เมื่อผ่ามาแล้วหากขายไม่ได้ ก็เสี่ยงต่อการสูญเสีย

งานวิจัยที่จะทำให้สามารถรู้ถึงปริมาณสารเคมีที่มีอยู่ในผลไม้โดยไม่ต้องทำลายจึงเป็นเรื่องทำกันอย่างมาก และที่ทำได้สำเร็จแล้วคือเครื่องมือที่ใช้แสงอินฟาเรด ส่องไปที่ผิวของผลไม้เปลือกบาง เช่น แอปเปิล สาลี่ แล้ววัดปริมาณแสงที่สะท้อนกลับมาว่ามากน้อยเพียงไร ก็จะสามารถคำนวนหาปริมาณน้ำตาลได้ ทั้งนี้เพราะน้ำตาลจะดูดกลืนแสงอินฟาเรดในบางช่วงความถี่เท่านั้น มีบางงานวิจัยใช้เสียงอัลตร้าโซนิกเพื่อหาโพรงหรือความหนาแน่นของสารเคมีที่มีอยู่ภายในผลไม้ ซึ่งสามารถใช้วัดคุณภาพได้เช่นกัน

คอมพิวเตอร์ ถูกนำมาใช้ในการคำนวนและควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตาม การคัดแบ่งเกรดนั้น จำเป็นต้องมีมาตรฐานที่ตรงกัน เพราะหากต่างคนต่างคัดออกมาแล้วบอกว่าหวานมาก หรือน้อยต่างกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ซื้อ และระบบก็จะหมดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยเรายังไม่ได้มีการทำกันอย่างจริงจัง มีแต่ถูกบีบให้ใช้มาตรฐานต่างประเทศเพราะต้องการส่งออกไปยังประเทศนั้นๆ ซึ่งทำได้ยากเพราะไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานไว้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น(ตั้งแต่เริ่มเก็บเกี่ยว)

ระบบขนส่ง

ระบบขนส่งเกี่ยวข้องกับการเกษตรตรงที่เป็นสิ่งที่นำผลผลิตออกสู่ท้องตลาด ซึ่งยิ่งสามารถส่งถึงมือผู้ซื้อได้เร็วเท่าใหร่ ความสด อร่อยของผลิตผลนั้นก็ย่อมจะยังคงอยู่ คอมพิวเตอร์มีส่วนช่วยให้ระบบขนส่งดีขึ้นได้ด้วยการจัดตารางเวลาในการขนส่งให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากช่วงใดขนส่งเร็วเกินไม่ ไม่ใช่ว่าจะเป็นผลดี เพราะจะต้องไปหยุดรอ ณ. จุดนั้น ซึ่งทำให้ต้องกักเก็บสินค้าขึ้น หากสามารถคำนวนให้ระบบวิ่งไปได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะนี้ระบบขนส่งแบบที่ไม่ต้องใช้คนขับนั้นก็กำลังแข่งกันคิดค้นอยู่ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา, ยุโรป หรือญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในขั้นทดสอบการใช้งานแล้ว ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากเพราะใช้หลักการที่ว่า หากรถทุกคันวิ่งไปด้วยความเร็วเท่าๆกัน ย่อมจะไม่ชนกันแน่นอน ไม่ว่าจะวิ่งเร็วแค่ใหน ดังนั้น ระบบนี้เมื่อผู้ขับรถบรรทุกวิ่งเข้าสู่เส้นทางทดสอบนี้(ทางด่วน) รถบรรทุกนั้นจะถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ของศูนย์ดูแลทางทันที หรือบางระบบก็จะควบคุมรถตั้งแต่โกดังสินค้าเลยทีเดียว และจะออกวิ่งไปตามเส้นทางทดสอบที่กำหนด ด้วยความเร็วคงทีไปตลอดเส้นทาง(120 km/hr สำหรับระบบที่อเมริกาทดสอบอยู่) อีกทั้งระหว่างการเดินทางนั้นก็จะติดต่อกับศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อบอกสถานะตัวเองตลอดเวลา ซึ่งทำให้สามารถดูแล และระบุเวลาที่จะไปถึงได้อย่างแม่นยำ

การขาย

ในตลาดนั้น เรื่องกลไกราคา หรือการขายนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หากสามารถกำหนดราคาได้เหมาะสม จะสามารถดึงดูดใจผู้ซื้อได้ และยังต้องได้กำไรสูงสุดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นข้อมูลทุกอย่างที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้าจึงถูกนำมาประมวลด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม และจะนำไปสู่การประมาณราคาสินค้าล่วงหน้าด้วย

จะขอยกตัวอย่างหนึ่ง ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื้อวัวสด เป็นอาหารที่คนญี่ปุ่นนิยมมากที่สุด แต่เมื่อมีเหตุโรคระบาด และมีเรื่องการตัดแต่งพันธุกรรมออกมา ทำให้ผู้ซื้อขาดความมั่นใจในการซื้อ วิธีการที่เขาเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าก็คือ เนื้อแต่ละเพ็คที่แบ่งขายอยู่นั้นจะมีรหัสบาร์โคดอยู่ ซึ่งเป็นปกติที่ขายกันทั่วไปเพื่อบอกราคา แต่เขาได้เสริมระบบข้อมูลเข้าไปก็คือว่า ผู้ซื้อสามารถนำเนื้อเพ็คนั้นไปกดรหัสเข้าคอมพิวเตอร์ที่วางไว้ณ.จุดขาย คอมพิวเตอร์ก็จะรายงานประวัติของเนื้อชิ้นนั้นออกมาว่า มาจากวัวตัวใด เลี้ยงที่ฟาร์มใหน ใครเป็นเจ้าของ รวมทั้งประวัติการเลี้ยงดู การป่วย ให้การรักษาหรือฉีดวัคซีนอะไรบ้าง เมื่อใหร่ จนถึงสุดท้ายที่เข้าโรงฆ่าสัตว์เมื่อใหร่ที่ใหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ หากไม่ทำเป็นระบบอย่างครบวงจรแล้ว ไม่มีทางนำมารายงานได้อย่างแน่นอน และหากไม่มีความรับผิดชอบ และบริสุทธิใจเพียงพอแล้วย่อมไม่กล้าที่จะนำเสนออย่างแน่นอน

สรุป

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้บางเรื่องอาจจะเป็นที่รู้ๆกันอยู่แล้ว เพราะมีข่าวคราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆให้อ่านกันอย่างทั่วถึงไม่ใช้ว่าผมจะมายกยอประเทศที่เขาพัฒนาแล้วว่ามีดีกว่าประเทศเรา เพราะทุกอย่าง ผมเชื่อว่า เราสามารถทำอย่างเขาได้ ขอแต่เพียงมีความขยันและตั้งใจที่จะทำอย่างจริงจังเท่าๆกับเขา เท่านั้น ถ้าหากเราไม่ลงมือสร้างด้วยตัวเราเองตั้งแต่วันนี้ สิ่งต่อไปที่เราอาจจะต้องไปซื้อเขานั้นก็จะมีอยู่เรื่อยๆไม่สิ้นสุด หากใครเห็นผู้ที่พยายามที่จะสร้างอะไรขึ้นมาเองด้วยความคิดของตัวเอง ขอให้ช่วยให้กำลังใจเขา เห็นคุณค่าของความพยายาม เพราะนั่นคือพื้นฐานของการพัฒนาที่มั่นคง

ข่าวเพิ่มเติม

เมื่อสองวันก่อน(4 พฤศจิกายน 2545) ผมได้อ่านข่าวจากโฮมเพจของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ หัวข้อข่าวว่า "ญี่ปุ่นจัดระบบสืบประวัติอาหารเตรียมประกาศใช้ เม.ย.46" ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมได้พูดถึงในบทความนี้ ผมจึงได้นำมารวบรวมไว้ด้วย โดยในข่าวมีใจความโดยย่อว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมประกาศใช้ระบบสืบค้นประวัติของอาหารในเดือน เมษายน 2546 นี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งคงจะกระทบกับประเทศไทยแน่นอน เพราะญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ในข่าวยังระบุอีกว่า ประเทศไต้หวัน ได้ร่วมมือกับบริษัท Maruha ของญี่ปุ่น เพื่อจัดทำประวัติของสินค้าประเภทผักแช่แข็ง และจะขยายไปยังสินค้าอื่นๆต่อไป

since September 2002
Web Counter by http://www.digits.com
Last updated : Sunday, 8 August, 2004 16:35

Copyright © 2002-2004 Somchai LIMSIRORATANA. All rights reserved.